“ลูกเข้าโรงเรียนอนุบาลแล้ว ทำไมยังเขียนตัวหนังสือไม่ได้”
“ทำไมลูกไปเรียนหนังสือแล้ว ยังจับดินสอไม่เป็นเลย”
“ลูกเราต้องเรียนหนังสือไม่เก่งแน่ ๆ เลย จนป่านนี้แล้ว ยังเขียนตัวอักษรไม่ได้เลยสักตัว”
เจอเรื่องแบบนี้เข้าไป ทีนี้ผู้ปกครองก็ว้าวุ่นเลย! เพราะมีหลายครอบครัวที่มีลูกอยู่ในวัยอนุบาลแล้วเจอกับปัญหาการฝึกการเขียนให้ลูก อยากให้ลูกเขียนให้เร็ว ถูกต้อง สวยงาม แต่เมื่อลูกทำไม่ได้ จึงกลายเป็นปัญหา ซึ่งความจริงปัญหานี้ อาจไม่ได้ต้องแก้ที่ลูก แต่ต้องแก้ที่ตัวพ่อแม่!! (อ้าว! ทำไมเป็นแบบนี้?)
ปัญหาที่พ่อแม่หลายท่านรู้สึกว่าเป็นปัญหา ทั้งที่ความจริงสิ่งนี้ไม่ใช่ปัญหาใด ๆ เลยสำหรับลูกน้อย การเขียนตัวอักษรได้เร็วหรือช้า ไม่ได้เป็นตัววัดค่าความเรียนเก่งหรือไม่เก่งในตัวลูก การจับดินสอได้คล่องแคล่วขีดเขียนได้เร็วและสวยงามก็ไม่ใช่เครื่องมือวัดความสำเร็จของลูกในอนาคตแต่อย่างใด
การเขียนเป็นทักษะที่ต้องอาศัยพัฒนาการตามวัย ความเหมาะสมตรงกับช่วงเวลาจึงสำคัญ หากคุณพ่อคุณแม่เร่งรัดหรือเร่งรีบมากเกินไป อาจเกิดปัญหาการต่อต้านได้ ซึ่งการที่เด็กในวัยอนุบาลยังเขียนไม่ได้ ไม่ใช่ปัญหา แต่การที่เด็กต่อต้านการเรียนหนังสือนั่นต่างหากคือปัญหา!
การที่เด็กจะสามารถเขียนตัวหนังสือได้นั้น ไม่ใช่ใช้เพียงแค่พัฒนาการทางสติปัญญา แต่จุดเริ่มต้นที่แท้จริง คือ พัฒนาการทางด้านร่างกาย โดยแบ่งเป็นคร่าว ๆ ดังนี้
นอกจากนี้ เด็กจะสามารถจับดินสอโดยใช้การทำงานร่วมกันของนิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลาง ทั้งสามนิ้วได้ดี และสามารถเขียนโดยการเคลื่อนไหวของนิ้วมือ โดยไม่ต้องใช้แขน ข้อศอก หรือข้อมือได้เป็นอย่างดีที่อายุมากกว่า 4 - 6 ปี ขึ้นไป และนอกจากกล้ามเนื้อมือที่แข็งแรงแล้ว ยังต้องมีการทำงานที่ประสานกันของมือและตาที่ดีด้วยเมื่อถึงเวลา
อีกข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจจากบทความเรื่อง “เด็กเล็กกับการเขียนหนังสือ” จากเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน ของหมอโอ๋ ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่บอกถึงข้อมูลที่ว่า เด็กเล็กในวัย 3 ปี กระดูกและกล้ามเนื้อยังไม่พัฒนาดี กระดูกอ่อนของเด็กแถวข้อต่อที่ต่อไปจะพัฒนากลายเป็นกระดูกแข็ง ยังมีขนาดเล็กมาก การเขียนหนังสือในเด็กส่วนใหญ่ จึงไม่ควรต้องถูกบังคับให้ทำก่อนอายุ 6-7 ปี
ดังนั้นจึงเป็นคำตอบว่า เด็กในวัยอนุบาลยังไม่ใช่วัยที่คุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามบังคับให้เขาจับปากกาขีดเขียนหนังสือ และเลิกมองว่า การที่ลูกของเรายังเขียนหนังสือไม่ได้ จับดินสอไม่เก่ง เป็นเรื่องแปลก! หรือเป็นสิ่งที่ต้องกังวลใจ การเขียนหนังสือได้เร็วหรือช้า ไม่เกี่ยวข้องกับความฉลาด หรือความสามารถทางการเรียนของลูก ไม่ได้ส่งผลใด ๆ ต่อความสำเร็จในอนาคต เพราะยังมีปัจจัยอื่นที่เป็นตัวกำหนดความสำเร็จอีกมากมาย
การที่เด็กจะเขียนหนังสือได้ ไม่ใช่แค่การตีความว่าเด็กเก่งหรือไม่เก่ง แต่ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพัฒนาการตามช่วงวัย เมื่อกระดูกและกล้ามเนื้อเหมาะสม ดังนั้นถ้าอยากให้กล้าเนื้อเด็กเติบโตและพร้อมสำหรับการเขียนหนังสือ ควรใช้วิธีพัฒนาผ่าน “play-base learning” การทำกิจกรรมเพื่อช่วยสร้างกล้ามเนื้อมือ เช่น กิจกรรมปั้น ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อมัดเล็กได้เป็นอย่างดี เพราะได้รวมการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อมัดเล็กทั้งที่มือ และนิ้วไว้ในทุก ๆ การเคลื่อนไหว ผ่านการนวด การคลึง การบีบ การปั้น หรืออาจจะเป็นการออกกำลัง เช่น ขุดดิน ขุดทราย ปลูกต้นไม้ หรือกิจกรรมสนุก ๆ เช่น ฉีกกระดาษ ต่อบล๊อกไม้ แกะสติกเกอร์ หรือแม้แต่กิจกรรมที่เป็นกิจวัตรประจำวันก็มีส่วนช่วยสร้างกล้ามเนื้อมัดเล็กให้ลูก เช่น การแปรงฟัน เป็นต้น ซึ่งดีกว่าการที่คุณพ่อคุณแม่มานั่งบังคับกดดันให้ลูกน้อยฝึกการเขียน
กับคำถามที่ว่า เมื่อลูกน้อยยังเขียนหนังสือไม่ได้ เป็นปัญหาของลูกหรือของพ่อแม่ คำตอบสำหรับบทความนี้คือ ไม่ใช่ปัญหาของใครทั้งสิ้น ไม่ว่าจะลูกหรือพ่อแม่ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า เรื่องนี้ไม่ถือเป็นปัญหา เพราะเมื่อวันหนึ่งวันที่ร่างกายลูกพร้อม กล้ามเนื้อของเขาเติบโตและพร้อมสำหรับการเขียนหนังสือ วันนั้น ธรรมชาติจะนำพาให้เขาเขียนได้เอง ส่วนการจะเรียนเก่งในอนาคตหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมอื่น แต่ไม่ใช่ปัจจัยจากการเขียนหนังสือเร็ว / ช้า ของเด็กในวัยอนุบาลค่ะ
Auntie
ข้อมูลอ้างอิง
เด็กเล็กกับการเขียนหนังสือ https://www.facebook.com/takekidswithus
ลูกยังเขียนหนังสือไม่ได้ ลูกเขียนหนังสือช้า อยู่อนุบาลแล้ว ยังเขียนคำไม่ถูก theasianparent.com/ลูกยังเขียนหนังสือไม่ได้
พ่อแม่ไม่ต้องกังวล เด็กอนุบาลเขียนไม่สวย หรือเขียนไม่ได้เป็นพัฒนาการปกติตามวัย https://www.parentsone.com/news-toddler-cant-writing-is-normal/